พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3 เมษายน 2565

 

พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
3 เมษายน 2565


     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 15 โครงการแก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด


     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังเต็นท์นิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ประกอบด้วย


    1) วีดิทัศน์ “น้ำบาดาล...น้ำเพื่อชีวิตแห่งอนาคต” นำเสนอความเป็นมาของโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ณ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
    2) วัฏจักรอุทกวิทยาของประเทศไทย นำเสนอการหมุนเวียนของน้ำบนโลกตามธรรมชาติ มีกระบวนการต่าง ๆ อันได้แก่ การเกิดน้ำจากฟ้า การซึมของน้ำลงดิน การระเหย และการคายน้ำของพืช และการเกิดน้ำท่า รวมถึงการกักเก็บของน้ำบาดาล กระบวนการเหล่านี้ประกอบกันเป็น “วัฏจักรของอุทกวิทยา” น้ำจะหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักร โดยปรากฏอยู่ในรูปแบบและสถานะต่าง ๆ กัน ซึ่งวัฏจักรของอุทกวิทยาไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดสิ้นสุด รวมถึงนำเสนอข้อมูลปริมาณน้ำบาดาลของประเทศไทยที่มีปริมาณกักเก็บมากถึง 1.13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร
    3) โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 15 โครงการ นำเสนอจุดที่ตั้งของโครงการฯ ทั้ง 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด บนแผนที่ประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และพัทลุง พร้อมระบุจำนวนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในแต่ละปีแต่ละพื้นที่
    4) การพัฒนาระบบน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอความเป็นมาของโครงการฯ นับตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์คุณภาพน้ำและตรวจหาอายุน้ำบาดาล การออกแบบและก่อสร้างระบบกระจายน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการภายหลังการส่งมอบโครงการฯ ให้ท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบ
    5) แบบจำลองทางกายภาพของชั้นน้ำบาดาลบริเวณพื้นที่โครงการ เป็นการจำลองสภาพชั้นน้ำบาดาลจริงของพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยชั้นน้ำบาดาลจำนวน 4 ชั้น โดยปกติชาวบ้านจะเจาะและใช้น้ำบาดาล
ในชั้นที่ 1 ความลึกไม่เกิน 50 เมตร ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ค้นพบชั้นน้ำบาดาลใหม่ ๆ ในพื้นที่ อีก 3 ชั้น มีความลึกตั้งแต่ 50 ถึง 90 เมตร (ชั้นที่ 2) ความลึก 90 ถึง 140 เมตร (ชั้นที่ 3) และความลึก 140 ถึง 200 เมตร (ชั้นที่ 4) ซึ่งชั้นน้ำบาดาลใหม่ที่ถูกค้นพบ มีปริมาณน้ำกักเก็บจำนวนมากและมีคุณภาพดี น้ำบาดาลมีอายุ 7,530 ปี อีกทั้งมีคุณสมบัติเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้เจาะบ่อผลิต เพื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาให้ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร โดยไม่ใช้น้ำในชั้นที่ 1 เพื่อป้องกันการแย่งน้ำจากบ่อเดิมของชาวบ้าน
    6) แบบจำลองโครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ เป็นการจำลองรูปแบบของโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงเส้นทางการวางท่อกระจายน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์การบริหารส่วนตำบลหนองฝ้าย และจังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะท่อส่งน้ำทั้งโครงการ 23.3 กิโลเมตร
    7) เทคโนโลยีการสำรวจและเจาะน้ำบาดาล นำเสนอข้อมูลการสำรวจอุทกธรณีวิทยาเพื่อค้นหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่ การใช้เครื่องมือวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะ เพื่อหาชั้นน้ำใหม่ในรอยแตก การใช้เครื่องมือหยั่งธรณีหลุมเจาะ เพื่อตรวจสอบหาชั้นน้ำบาดาลจืดและเค็ม และการใช้เครื่องมือสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาใช้ประโยชน์จะไม่มีวันหมด โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ปริมาณน้ำกักเก็บรวม 5,385 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการเจาะสำรวจน้ำบาดาลระดับลึก 1,000 เมตร แห่งแรกของประเทศไทยที่จังหวัดขอนแก่น และการค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา ปริมาณน้ำกักเก็บรวม 250 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่อำเภอเลาขวัญ ปริมาณน้ำกักเก็บรวม 500 ล้านลูกบาศก์เมตร
    8) วิวัฒนาการพัฒนาระบบน้ำบาดาล นำเสนอความเป็นมาของการเจาะและนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลโดยใช้ไม้ไผ่จากประเทศจีน เป็นบ่อแรกของประเทศไทย ณ โรงพยาบาลเทียนหัว ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร ต่อมาพัฒนามาเป็นบ่อน้ำบาดาลที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบมือโยก บ่อน้ำบาดาลที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำและเริ่มมีการจัดทำระบบประปาบาดาล การนำน้ำบาดาลมาช่วยเหลือประชาชน   เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยนำน้ำบาดาลมาเพื่อการเกษตรและเกษตรแปลงใหญ่ จนกระทั่งถึงปัจจุบันเป็นการพัฒนาและส่งน้ำบาดาลระยะไกลขนาดใหญ่
    9) งานอนุรักษ์และฟื้นฟูน้ำบาดาล นำเสนอข้อมูลการควบคุมการทรุดตัวของแผ่นดินในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล (กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลอีก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อควบคุม กำกับ และดูแลการใช้น้ำบาดาล โดยอาศัยพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ประกาศเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล และควบคุมการใช้น้ำบาดาลอยู่ที่วันละไม่เกิน 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร มีนโยบายเก็บค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ส่งผลให้การทรุดตัวของแผ่นดินลดลง โดยส่วนใหญ่มีอัตราการทรุดตัวปีละน้อยกว่า 1 เซนติเมตร และมีระบบติดตาม ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบริหารจัดการแหล่งน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้มีโครงการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อฟื้นฟูระดับน้ำและปริมาณน้ำใต้ดิน ซึ่งหากมีการเติมน้ำใต้ดินเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง จะทำให้ระดับน้ำบาดาลคืนสู่สมดุลและยั่งยืนต่อไป
    10) น้ำบาดาลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นำเสนอข้อมูลของการนำน้ำบาดาลไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ กระดาษและปูนซีเมนต์ ที่พักแรมและอสังหาริมทรัพย์


     ปัจจุบันโครงการดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2564 ส่งมอบให้ท้องถิ่นและจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อบริหารจัดการระบบต่อไป โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ก่อสร้างระบบประปาและวางท่อกระจายน้ำในพื้นที่รอบโครงการ รวมระยะทาง 5.4 กิโลเมตร องค์การบริหารส่วนตำบลหนองฝ้าย เชื่อมต่อระบบประปาที่มีอยู่เดิมเพิ่มอีก 7.8 กิโลเมตร และจังหวัดกาญจนบุรีดำเนินการวางระยะท่อเพิ่มเติม 10.1 กิโลเมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองฝ้ายทั้งหมด รวมระยะท่อส่งน้ำทั้งโครงการ 23.3 กิโลเมตร
ในอนาคตจังหวัดกาญจนบุรีมีแผนจะขยายระบบกระจายน้ำเพื่อให้ครอบคลุมทั้งอำเภอเลาขวัญ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 11,600 ครัวเรือน หรือ 58,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำบาดาล เป็น “น้ำเพื่อชีวิตแห่งอนาคต” นำมาซึ่งความสุขของประชาชน และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน