พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อความสุขของประชาชน

 

พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เพื่อความสุขของประชาชน

 

     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 ทรงพระปรีชาสามารถด้านเศรษฐกิจการพาณิชย์มานับแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 ทรงพระมหากรุณาเอาพระราชหฤทัยใส่ในสุขทุกข์ของราษฎรโดยเฉพาะเรื่องการเกษตรและการประกอบอาชีพ เช่นในภาวะฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำข้าวในฉางหลวงมาจำหน่ายในราคาถูก และส่งเสริมให้ชาวนาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ทรงพระเมตตาพระราชทานความยุติธรรมในเรื่องอากรค่านา ให้เก็บภาษีทั้งนาของขุนนางและนาของราษฎรให้เท่ากัน มิใช่ให้เก็บภาษีขุนนางถูกกว่าของราษฎร เพื่อให้เกิดความสุขแก่เกษตรกรผู้เป็นพลเมืองของพระองค์

     พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกอย่างเอก ทรงสถาปนาและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไว้มากมาย ก่อประโยชน์นอกจากด้านการจรรโลงพระศาสนา และยังเป็นสถานศึกษาหาความรู้ของสมาชิกชุมชนทุกระดับนับแต่ผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็ก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกสรรพวิชาการไว้เป็นดุจมหาวิทยาลัยอันมีตำราสารพัดแขนงไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงทำนุบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง ปรากฏหลักฐานในถ้อยคำของปวงพระราชาคณะในสมัยนั้น ที่ถวายพระพรสนองพระราชปุจฉา ทรงพระปริวิตกห่วงใยการศึกษาของคณะสงฆ์ ว่า

     “...มีพระราชหฤทัยทรงปรารถนาซึ่งภิกษุสงฆ์และสามเณรที่รู้พระไตรปิฎกเป็นอย่างเอก โท ตรี จัตวา จะได้ดำรงพระศาสนาให้รุ่งเรืองจำเริญสืบไป...

     อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกัน ขอพระราชทานถวายปฏิญาณไว้ว่า จำเดิมแต่นี้สืบไปภายหน้า อาตมภาพทั้งปวงจักพร้อมกันบอกกล่าวสั่งสอนกุลบุตร และตักเตือนให้มีเพียรเล่าเรียนภิญโญภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จักกระทำพระพุทธศาสนาให้บริบูรณ์ ด้วยภิกษุสงฆ์และสามเณรอันทรงพระปริยัติธรรมตามแต่อุปนิสัยวาสนาแห่งบุคคลอันคู่ควรแก่พระไตรปิฎกโดยอย่างยิ่งอย่างหย่อนเป็นลำดับๆ กัน บำรุงพระราชศรัทธาให้เสมอทุกๆ ปีมิได้ขาด ตามแต่จะได้โดยมากและน้อย สมด้วยพระราชประสงค์จงทุกประการ”

     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกลในการต่างประเทศ มีน้ำพระราชหฤทัยผูกพันในประโยชน์สุขของราษฎรอยู่เป็นนิจ แม้ในยามทรงพระประชวรใกล้เสด็จสวรรคต ดังที่มีพระราชกระแสกับพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ถึงแนวทางการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศในอนาคต ซึ่งกาลต่อมาปรากฏว่าเป็นไปตามพระราชวาจาทุกประการ

     “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว”

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ 6 เมษายน 2561
สืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี”
หนังสือ 2325 - 2562 ใต้ร่มพระบารมี
237 ปี กรุงรัตนโกสินทร์