พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อความสุขของประชาชน

พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เพื่อความสุขของประชาชน


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถสืบมา ได้ทรงฟื้นฟูราชประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องจรรโลงจิตวิญญาณชนในชาติ ในขณะเดียวกัน ก็ทรงผ่อนปรนยกเลิกประเพณีกดขี่ล้าสมัย

พระองค์ทรงสั่งสอนขุนนางและราษฎรให้ตั้งมั่นในธรรมจรรยา โดยเฉพาะขุนนางต้องมีความ “สามัคคี” “ซื่อสัตย์” และ “ยุติธรรม” ปราศจากอคติ เพื่อให้เกิดความสุขแก่ประชาชนทั่วหน้า ดุจดังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ ดังตัวอย่างเช่น พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ในการปกครองบ้านเมือง ว่า

“...ประการหนึ่งให้พระยานครว่าราชการบ้านเมืองพร้อมด้วยปลัด ยกกระบัตรกรมการจงเป็นยุติเป็นธรรม ให้เป็นเอกจิตเอกฉันท์น้ำหนึ่งใจเดียว อย่าให้มีความฉันทาโทษาริษยาถือเปรียบขัดแก่งแย่งกันให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่ง จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเนื้อความของทวยราษฎร์ทั้งปวงโดยมูลคดีประการใด ไม่ควรตั้งอยู่ในอคติทั้งสี่คือ ฉันทาคติ โทษาคติ ภยาคติ โมหาคติ อย่าให้กอบไปด้วยความอิจฉาริษยาโกรธจองเวรด้วยภัยต่างๆ ให้พิจารณาจงเป็นยุติธรรมด้วยอุเบกขาอย่างประเสริฐ อย่าให้อสัตย์อธรรมเห็นแก่หน้าบุคคล แลอามิสสินจ้างสินบนเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย กลับเท็จเป็นจริง กลับจริงเป็นเท็จ ทำกลบเกลื่อนเนื้อความให้ฟั่นเฟือน ให้ทวยราษฎร์ทั้งปวงมีความยากแค้นเดือดร้อน”

ยุคนี้จัดเป็นยุคทองของวรรณกรรม และศิลปะทุกแขนง ทรงเป็นทั้งศิลปินและนายช่างชำนาญในสรรพศิลปวิทยา ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยมีพระราชดำรัสสรุปพระคุณสมบัติในรัชกาลที่ 2 ไว้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2520 ความว่า
“...พระองค์ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิทยาการหลากแขนง ตั้งแต่การที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ก็ย่อมทรงทราบวิชาวิทยาการต่างๆ ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ มีการปกครองและการทหารเป็นต้น และยังได้ทรงมีความรู้ในด้านศิลป ทั้งในด้านการประพันธ์ การดนตรี และในด้านการประติมากรรม ทุกอย่างที่กล่าวมาก็ทำได้ถึงขั้นเป็นที่ยกย่องทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงเป็นบุคคลที่เราจะเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากผู้หนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ความสำคัญอยู่ที่ความสามารถในด้านศิลปนานาประการ เพราะฉะนั้นนอกจากจะถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมา นำบ้านเมืองมาอย่างสงบสุขแล้ว อย่างในด้านวิทยาการนี้ก็ยังถือว่าเป็นบรมครูอีกด้วย คือท่านผู้มีความรู้ในด้านศิลป ผู้ค้นคิดวิทยาการเก่าๆ ของไทยเรา และรู้สึกสำนึกในบุญคุณของท่านที่สร้างศิลปมาให้เรารุ่นหลังได้ใช้ นอกจากการใช้เป็นประกอบอาชีพแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องเตือนใจอยู่เสมอว่า บ้านเมืองเรานี้ คนรุ่นเก่ามีความสามารถรักษาบ้านเมืองไว้ให้อยู่อย่างสงบสุข พอที่จะมีศิลปกรรมต่างๆ อันเป็นที่เชิดหน้าชูตามาได้อย่างเป็นระยะเวลาอันยาวนานไม่ขาดสาย

ดังนั้นจึงเป็นข้อเตือนใจให้เราคนรุ่นหลังได้นึกอยู่ตลอดเวลา ที่เราจะรักษาบ้านเมืองของเราไว้ โดยที่ไม่ต้องคิดเรื่องรักชาติอย่างอื่นนอกจากมองจากที่ท่านได้ทำไว้แล้ว แล้วเราก็หวงแหนและรักษาไว้ ฉะนั้นจึงเห็นว่าพระราชกรณียกิจของท่านสำคัญ...”

ที่มาข้อมูล : หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ 6 เมษายน 2561
สืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี”